โรคไข้เลือดออกเกิดจากอะไร อาการเป็นยังไง ระยะไหนอันตราย!

ไข้เลือดออก

ไข้เลือดออก เป็นโรคที่เกิดจากยุงลายที่ทุกๆบ้านต่างเฝ้าระวัง โดยเฉพาะหน้าฝนที่มีน้ำขัง ฝนตก ยุงชุม หากโดนยุงกัดก็อาจทำให้ติดเชื้อได้ อาการไข้เลือดออกนั้นค่อนข้างรุนแรง และทำให้เสียชีวิตได้ ไปดูกันเลยว่าอาการเป็นอย่างไร ระยะไหนที่อันตรายต่อชีวิต

ความรู้โรคไข้เลือดออกที่น่าสนใจ


โรคไข้เลือดออก คืออะไร

ไข้เลือดออก (dengue hemorrhage fever : DHF) คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (dengue fever : DF) ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะ พบระบาดมากในช่วงฤดูฝน แต่ก็พบการติดเชื้อนี้ได้ตลอดทั้งปี ในแต่ละปียังมีคงผู้ติดเชื้อจำนวนมาก


การติดต่อของไข้เลือดออก

ไข้เลือดออกเกิดจากอะไร

เกิดจากการติดเชื้อไวรัส dengue ซึ่งมี 4 ซีโรทัยป์  คือ DEN-1, DEN-2, DEN-3, DEN-4 ที่นำโดยยุงลาย ผู้ที่เคยติดเชื้อแล้ว จะมีภูมิคุ้มกันต่อซีโรทัยป์ที่เคยได้รับไปตลอดชีวิต และจะมีภูมิคุ้มกันต่อซีโรทัยป์อื่นในระยะสั้น ประมาณ 3 – 12 เดือน


พบแพทย์ที่อินทัชเมดิแคร์

ไข้เลือดออกติดต่อไหม

โรคไข้เลือดออกไม่ได้เป็นโรคติดต่อจากคนสู่คน แต่สามารถติดต่อได้จากยุงลายตัวเมียที่เป็นพาหะนำโรค คือ เมื่อยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้ ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดมาก เชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระเพาะยุงและเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วเดินทางเข้าสู่ต่อมน้ำลาย พร้อมที่จะเข้าสู่คนที่ถูกกัดต่อไป

 

เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสเดงกีไปกัดคนอื่น
ก็จะปล่อยเชื้อไปยังคนที่ถูกกัด
ทำให้คนนั้นป่วยได้
ระยะเวลาฟักตัวหลังรับเชื้อ 5-8 วัน

อาการไข้เลือดออก

อาการไข้เลือดออก

  1. มักจะมีไข้ขึ้นสูง 2-7 วัน อาจสูงถึง 40 องศาเซลเซียส 

  2. เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว หน้าแดง 

  3. ในรายที่มีเกล็ดเลือดต่ำ อาจจะมีจุดเลือดออกสีแดงเล็กๆ ตามผิวหนัง เนื่องจากมีเลือดออกที่ผิวหนัง ซึ่งเป็นที่มาของชื่อโรคไข้เลือดออก

  4. อาจมีอาการปวดท้อง เนื่องจากมีตับโตในช่องท้อง มักกดเจ็บบริเวณชายโครงข้างขวา

    *ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะอาการไม่มากและหายได้เอง แต่มีเพียงส่วนน้อยที่อาจมีอาการรุนแรง เลือดออกมาก โดยเฉพาะในทางเดินอาหาร หรือมีสารน้ำรั่วออกจากหลอดเลือดมากจนความดันต่ำ ช็อกและหมดสติ

ระยะของไข้เลือดออก

ระยะไข้

ระยะไข้

ผู้ป่วยระยะนี้จะมีใข้สูงลอยเฉียบพลัน 2-7 วัน อาจสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ส่วนใหญ่ไม่มีน้ำมูกหรือไอ ต่างจากไข้หวัด ถ้ามีไข้สูงมากอาจชักได้ ปวดศีรษะและกระบอกตามาก เบื่ออาหาร คลื่นไส้ และอาเจียนร่วมด้วย

อาจพบคอแดง หน้าแดงได้ในบางคน สังเกตได้ว่าจะมีจุดเลือดออกเล็กๆ ตามแขน ขา รักแร้ ลำตัว อาจมีเลือดกำเดาไหล ปวดท้องและถ่ายอุจจาระสีดำ ตับโตจนทำให้ปวดใต้ชายโครงขวา 

ควรรีบไปโรงพยาบาลตั้งแต่ระยะไข้เพื่ออยู่ใกล้ชิดกับแพทย์ในการติดตามอาการ 

ระยะวิกฤติ

ระยะวิกฤติ

เป็นระยะที่มีการรั่วของพลาสมา เกิดขึ้นกับผู้ป่วยทุกรายในระยะวิกฤติ หรือช็อก เป็นช่วงสั้นๆ ก่อนไข้ลงหรือพร้อมๆ กับไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว

ผู้ป่วยที่มีภาวะช็อก จะมีอาการกระสับกระส่าย อาจมีเหงื่อออกมากและมือเท้าเย็น ชีพจรเบาเร็ว ส่วนใหญ่จะรู้สติ พูดรู้เรื่อง กระหายน้ำ หากรักษาภาวะช็อกได้ทัน ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะฟื้นตัวได้รวดเร็ว แต่หากช็อกนานอาจมีอาการเลือดออกในทางเดินอาหารอย่างรุนแรง 

เสียชีวิตได้ภายใน 12-24 ชั่วโมง หลังช็อก หากไม่ได้รับการรักษาภาวะช็อกอย่างถูกต้องทันที 

ระยะฟื้นตัว

ระยะฟื้นตัว

ระยะนี้เกิดขึ้นค่อนข้างเร็วหลังไข้ลง 24 - 48 ชั่วโมง มีผื่นจุดขาวบนพื้นแดง คัน ซึ่งจะเป็นอยู่ 2 - 4 วัน

มีปัสสาวะมาก  อาจตรวจพบชีพจรเต้นช้า ผู้ป่วยจะเริ่มรับประทานน้ำและอาหารได้มากขึ้นในระยะนี้

ผู้ป่วยที่พ้นขีดอันตรายแล้ว สังเกตได้ว่ามีไข้ลดลง ไม่ซึม รู้สึกตัวได้ดี 


อาการไข้เลือดออกแตกต่างจากไข้หวัด

เราสามารถสังเกตได้ว่าไข้เลือดออกจะมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน อาจมีเลือดกำเดาไหล และเลือดออกเป็นจุด ๆ ตามร่างกาย ในขณะที่โรคไข้หวัดจะมีอาการไข้สูงติดต่อกัน และมีอาการที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ อย่างเช่น มีอาการไอ หรือมีอาการน้ำมูกร่วมด้วย

เมื่อไข้ลง ควรเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากสามารถพบภาวะช็อกหรือเลือดออก อาจถึงแก่ชีวิตได้ 


หากมีไข้สูงต่อเนื่องตั้งแต่ 2 วันขึ้นไป
เช็ดตัวและทานยาลดไข้แล้วไม่ดีขึ้น
ควรมาโรงพยาบาล 


การปฏิบัติเมื่อเป็นไข้เลือดออก

การปฏิบัติเมื่อเป็นไข้เลือดออก

  1. ดื่มน้ำหรือน้ำเกลือแร่ให้เพียงพอ วิธีสังเกตว่าดื่มน้ำเพียงพอหรือไม่ คือ ให้สังเกตปัสสาวะจะต้องเป็นสีเหลืองอ่อน หากเป็นสีเหลืองเข้มหรือสีชา แสดงว่าร่างกายยังขาดน้ำอยู่

  2. รับประทานยาลดไข้ ให้ใช้ยาพาราเซตามอล ตามขนาดที่แพทย์สั่ง ห้ามเกินขนาด เพราะอาจเป็นสาเหตุของตับอักเสบจากยาพาราเซตามอลได้

  3. ห้ามใช้ยาแอสไพริน  เพราะทำให้เลือดออกง่ายและมากขึ้นได้

  4. ควรไปพบแพทย์ทันที หากอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ อาเจียนมาก ดื่มน้ำเท่าไรก็ไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย มือเท้าเย็น เพราะอาการเหล่านี้เป็นสัญญาณอันตรายว่าผู้ป่วยอาจมีความดันเลือดต่ำและช็อก

  5. โรคไข้เลือดออก ไม่ติดต่อทางการสัมผัส หรือรับประทานอาหารร่วมกัน

  6. เมื่อมีไข้หากจะอาบน้ำ ให้อาบด้วยน้ำอุ่น หรือเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่น เพราะหากใช้น้ำเย็น ผู้ป่วยจะสูญเสียความร้อนจากร่างกายมาก อาจเกิดอาการสั่นได้ 


การรักษาโรคไข้เลือดออก 

การรักษาโรคไข้เลือดออกเป็นการรักษาตามอาการและประคับประคอง เพราะในปัจจุบันยังไม่มียาต้าน ไม่มีการรักษาเฉพาะ แต่หากผู้ป่วยรับการตรวจโรคตั้งแต่ระยะแรกและได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ก็จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงได้  โดยมีแนวทางการดูแลอย่างใกล้ชิดดังนี้

  1. เช็ดตัวเพื่อลดไข้และให้ยาลดไข้ ยาลดไข้ที่ควรใช้ คือ พาราเซตามอล ไม่ควรใช้ยาจำพวกแอสไพริน เพราะทำให้เกล็ดเลือดผิดปกติและระคายกระเพาะอาหาร

  2. ให้สารน้ำชดเชยอย่างเหมาะสม เพราะผู้ป่วยมักมีภาวะขาดน้ำเนื่องจากไข้สูง และอาเจียน ในรายที่พอทานได้ให้ให้ดื่มน้ำเกลือแร่บ่อย ๆ แต่หากขาดน้ำมาก มีภาวะเลือดออก อาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือด ต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล

  3. ติดตามดูอาการใกล้ชิด ถ้าผู้ป่วยมีอาการปวดท้อง ปัสสาวะน้อยลง กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น โดยเฉพาะในช่วงไข้ลด

พบแพทย์ที่อินทัชเมดิแคร์


โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่อาการรุนแรงไปจนถึงทำให้เสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาโรคอย่างทันท่วงที ซึ่งการรักษาในปัจจุบันเป็นการรักษาตามอาการแบบประคับประคอง และติดตามอาการอย่างใกล้ชิด

เนื่องจากยังไม่มียาต้านโรคนนี้ มีเพียงการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกเท่านั้นที่ช่วยป้องกันได้

ดังนั้น หากใครที่มีอาการเข้าข่าย โดยเฉพาะในเด็กและผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว
ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการรักษาได้ทันท่วงที


บทความที่น่าสนใจ


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

  Hot Line 081-562-7722 กดโทรออก

สนใจทักแชท

   @qns9056c

   อินทัชเมดิแคร์คลินิกเวชกรรม


เรียบเรียงโดย แพทย์หญิงสุพรรษา เหนียวบุบผา
  แก้ไขล่าสุด : 28/06/2023
  อนุญาติให้ใช้งานภาพโดยไม่ต้องขออนุญาต เฉพาะในเชิงให้ความรู้ หรือเพื่อการศึกษาเท่านั้น โดยต้องให้เครดิตหรือแสดงแหล่งที่มาของ intouchmedicare.com

free web counter

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้