ห่วงอนามัยสำหรับการคุมกำเนิดและป้องกันการตั้งครรภ์ได้อย่างไร

ห่วงอนามัย

การคุมกำเนิดด้วยวิธีการใส่ห่วงอนามัยเป็นอีกหนึ่งวิธีที่คุณผู้หญิงหลายคนให้ความสนใจ เนื่องจากการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้สามารถคุมได้นานถึง 3-10 ปี หากต้องการมีบุตรก็สามารถกลับมามีได้อย่างรวดเร็ว การใส่ห่วงอนามัย ก็ไม่ทำให้เกิดรอยแผลภายนอก หรือไม่มีการส่งผลต่อร่างกายนอกกับคุณสาวๆด้วย

 

"เนื่องจากเป็นการใส่อุปกรณ์เล็กๆ
เข้าไปในโพรงมดลูก
โดยแพทย์จะใช้เวลาในการใส่ห่วงอนามัย
ประมาณ 10 นาที ถือว่าเป็นอีกทางเลือก
สำหรับสาวๆที่ยังไม่พร้อมมีบุตรค่ะ"


ข้อมูลที่น่าสนใจและควรรู้เกี่ยวกับการใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิด


การใส่ห่วงอนามัย ห่วงคุมกำเนิด คืออะไร?

ห่วงอนามัย หรือ ห่วงคุมกำเนิด (Intrauterine device, IUD) เป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กสำหรับใส่เข้าในโพรงมดลูกเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ เป็นการคุมกำเนิดที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพดีวิธีหนึ่ง


ชนิดห่วงอนามัยคุมกำเนิด

ห่วงอนามัยสำหรับคุมกำเนิดมีกี่ชนิด?

1. Non-medicated (Inert) IUD (ห่วงคุมกำเนิดชนิดไม่เคลือบสาร)

ทําจาก polyethylene ผสม BaSO4 ให้ทึบแสงเพื่อให้หาเจอด้วยเครื่อง X-ray  (เช่น Lippes Loop) , บางชนิดทำมาจาก stainless steel (นิยมใช้ในประเทศจีน) ปัจจุบันในประเทศไทยได้เลิกใช้ไปแล้ว

2. Medicated IUD (ห่วงคุมกำเนิดชนิดเคลือบสาร/ยา)

 2.1. Copper IUD (ห่วงคุมกำเนิดชนิดเคลือบทองแดง) ทองแดงจะไปกระตุ้นการสร้างสารอักเสบในร่างกายซึ่งมีผลเป็นพิษต่อ sperm และเซลล์ไข่ แบ่งออกเป็น 2 แบบ

 2.1.1. Copper T จะอยู่ได้นาน 4-10 ปี

 2.1.2. Multiload จะอยู่ได้นาน 3-5 ปี

 2.2. Hormone-releasing IUD (ห่วงคุมกำเนิดชนิดเคลือบฮอร์โมน) ห่วงสามารถปล่อย Progestin (Levonorgestrel) ออกมาช่วยคุมกําเนิดได้ อยู่ได้นาน 5-7 ปี

2.3. Frameless IUD (ห่วงคุมกำเนิดชนิดไม่มีโครง) มีทั้งแบบที่เคลือบทองแดงและฮอร์โมน ข้อเสียมักจะเลื่อนหลุดได้ง่าย แพทย์ต้องมีความชำนาญสูงในการใส่ห่วงคุมกำเนิดชนิดนี้ (เช่น Gynefix)


กลไกการออกฤทธิ์ของห่วงอนามัยคุมกำเนิด

  • คาดว่าเกิดจากกลไกการอักเสบจากวัสดุแปลกปลอม ทำให้เกิดการกระตุ้นกระบวนการอักเสบภายในร่างกาย กระบวนการนี้เป็นพิษต่อตัวอสุจิ และไข่ และยังขัดขวางการฝังตัวของตัวอ่อนอีกด้วย

  • กรณีที่เป็นห่วงอนามัยชนิดหลั่งสารโปรเจสติน (progestin-releasing IUD) จะเพิ่มกลไกการหนาตัวของมูกบริเวณปากมดลูกเพื่อป้องกันการเคลื่อนตัวของอสุจิ และยังทำให้ผนังเยื่อบุโพรงมดลูกบางตัวลงไม่พร้อมสำหรับการฝังตัวอ่อน


ผู้ที่ควรใส่ห่วงอนามัย

การใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิดเหมาะกับใคร

  1. ผู้ที่มีความต้องการจะคุมกำเนิดด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพสูง

  2. ผู้มีความเสี่ยงต่ำในการติดต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

  3. มีความต้องการจะคุมกำเนิดระยะยาวอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป

  4. มีความต้องการที่จะสามารถกลับมาตั้งครรภ์ได้หากหยุดใช้ห่วงอนามัย

  5. มีความจำเป็นที่จะต้องหลีกเลี่ยงวิธีการคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน

 


ห่วงอนามัยคุมกำเนิดชนิดเคลือบทองแดง

ปัจจัยในการพิจารณาเลือกใช้ห่วงอนามัยคุมกำเนิดชนิดเคลือบทองแดง หรือเคลือบฮอร์โมน

  1. ประวัติของรอบเดือน ความสม่ำเสมอ ปริมาณประจำเดือน และอาการปวดท้องประจำเดือน

  2. โรคประจำตัว

  3. ความต้องการของผู้ใช้ในเรื่องต้องการลดปริมาณประจำเดือน หรือบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือน

  4. ความรับรู้หรือความรู้สึกของผู้ใช้ห่วงอนามัย หากหลังการใส่ห่วงอนามัยแล้วมีภาวะขาดประจำเดือน หรือเลือดออกกะปริบกะปรอย



ข้อดีของการใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิด

ข้อดีของการใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิด

  • ห่วงอนามัยคุมกำเนิดได้นาน 3-10 ปี

  • ปราศจากฮอร์โมนเอสโตรเจน โดย ยาคุมกำเนิดชนิดเคลือบทองแดง ไม่มีฮอร์โมนชนิดใดเลย

  • กลับมาตั้งครรภ์ได้ทันทีหลังถอดห่วงอนามัยคุมกำเนิด ต่างจากยาคุมกำเนิดแบบฉีดที่อาจต้องรอเวลา 1 ปีหรือมากกว่า

  • ใช้ได้กับกลุ่มคนที่หลากหลาย ทั้งแม่ที่ให้นมบุตร ไปจนถึงผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก

  • หากเกิดภาวะไม่พึงประสงค์จากห่วงอนามัยคุมกำเนิด สามารถถอดห่วงคุมกำเนิดออกได้ทันที

ข้อเสียของการใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิด

ข้อเสียของการใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิด

  • ห่วงอนามัยจะต้องใส่และถอดโดยแพทย์เท่านั้น

  • ต้องตรวจภายในก่อนใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิด

  • เจ็บและอาจมีเลือดออกเล็กน้อย หลังจากใส่หรือถอด

  • อาจมีผลต่อประจำเดือนได้ โดยห่วงชนิดทองแดงอาจทำให้ประจำเดือนมามากและนานกว่าปกติ ในขณะที่ห่วงชนิดเคลือบฮอร์โมนอาจทำให้มีประจำเดือนน้อยลงในผู้ใช้ส่วนใหญ่หรือไม่มีประจำเดือนได้ในบางคน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล

  • อาจเกิดการติดเชื้อ และอักเสบในอุ้งเชิงกราน หรืออย่างร้ายแรงที่สุดคืออาจเกิดมดลูกทะลุได้

  • สายจากห่วงอนามัยคุมกำเนิดอาจรบกวนการมีเพศสัมพันธ์ได้ในผู้ป่วยบางราย


วิธีการใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิดมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง

  1. ผู้ป่วยต้องทำการปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนการใส่ห่วงอนามัย

  2. แพทย์จะทำการตรวจภายในก่อนการใส่ห่วงอนามัย

  3. แพทย์จะใช้อุปกรณ์เข้าไปในช่องคลอด และจับบริเวณปากมดลูกไว้

  4. จากนั้นจึงใส่ตัววัดระยะโพรงมดลูก เพื่อป้องกันมดลูกทะลุ

  5. แพทย์ทำการใส่ห่วงอนามัยเข้าไปในโพรงมดลูกตามระยะที่วัดเอาไว้

  6. สอบถามอาการผู้ป่วยหลังการใส่ห่วงอนามัย


 

ผลข้างเคียงของห่วงคุมกำเนิด

  1. ห่วงคุมกำเนิดชนิดเคลือบทองแดงจะทำให้ประจำเดือนมามากและนานในช่วงแรก อาจจะมีอาการปวดท้องประจำเดือนร่วมด้วย

  2. ห่วงคุมกำเนิดชนิดเคลือบฮอร์โมน จะทำให้ประจำเดือนไม่มา และอาจมีประจำเดือนกะปริบกะปรอย

  3. อาจมีตกขาวเพิ่มขึ้นจากปกติในผู้ที่ใส่ห่วงคุมกำเนิดบางราย

  4. เพิ่มโอกาสในการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานได้


ความเสี่ยงจากการใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิด

ความเสี่ยงจากการใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิด

  1. การเลื่อนหลุดของห่วงอนามัย (Expulsion) โดยอัตราการเลื่อนหลุดจะสูงในปีแรก และจะลดลงในปีถัดถัดไป

  2. ตำแหน่งไม่เหมาะสม (Malposition) อาจทำให้ฤทธิ์ในการคุมกำเนิดลดลงได้

  3. ไม่พบสายห่วงอนามัยจะทำให้มีความลำบากในการถอดออก

  4. ห่วงอนามัยแตกหัก อาจเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยบางราย หากชิ้นส่วนหลุดเข้าไปในช่องท้องจะทำให้เกิดภาวะติดเชื้อในช่องท้อง หรือภาวะมีบุตรยากตามมาได้

  5. มดลูกทะลุ (Perforation) มีโอกาสเกิดขึ้น 1 ใน 1000 อาการอาจไม่เกิดทันทีหลังจากการใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิด แต่จะมีอาการปวดท้องมากผิดปกติตามมาในภายหลังได้ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็คเพิ่มเติมต่อไป


การปฏิบัติตัวหลังจากใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิด

งดมีเพศสัมพันธ์
  • ควรงดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ 24 ชั่วโมงหลังจากการใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิด เนื่องจากอาจจะเพิ่มโอกาสการติดเชื้อในช่วงแรกหลังจากใส่ห่วงอนามัยได้

พบแพทย์เพื่อตรวจประเมินเพิ่มเติม
  •  หลังใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิดช่วง 1-3 วันแรก จะมีเลือดออกได้บ้างเนื่องจากขั้นตอนการใส่ห่วงอนามัย และอาจมีอาการปวดท้องมากขึ้นได้เล็กน้อย แต่หากมีอาการปวดมากผิดปกติให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินเพิ่มเติม

พบแพทย์ตามนัด
  • ควรพบแพทย์ติดตามตามนัด และควรตรวจติดตามเป็นประจำทุกปีเพื่อประเมินตำแหน่งของห่วง และการติดเชื้อหลังใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิด


ข้อห้ามในการใส่ห่วงคุมกำเนิด

ข้อห้ามในการใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิด

1. โพรงมดลูกผิดรูปอย่างรุนแรง (Severe uterine distortion) ซึ่งมักเกิดจากความผิดปกติด้านโครงสร้างของโพรงมดลูก เช่น Bicornuate uterus, ปากมดลูกตีบ (cervical stenosis), ก้อนเนื้อของกล้ามเนื้อมดลูกที่ทำให้โพรงมดลูกผิดรูป

2. มีการติดเชื้อในอวัยวะในอุ้งเชิงกรานอยู่ (Active pelvic infection) ควรรักษาให้หายก่อนอย่างน้อย 3 เดือน

3. ทราบหรือสงสัยว่าตั้งครรภ์ เนื่องจากการใส่ห่วงอนามัยเพิ่มโอกาสแท้ง และแท้งติดเชื้อ

4. มีภาวะแพ้ทองแดง ในกรณีเลือกใช้ห่วงอนามัยชนิดหุ้มทองแดง

5. เป็นโรค Wilson’s disease ทำให้มีทองแดงสะสมตามอวัยวะในร่างกายเพิ่มขึ้นได้

6. เลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูกที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด เนื่องจากภายหลังการใส่ห่วงอนามัยอาจมีเลือดออกกระปริดกระปรอยทางช่องคลอดได้

7. อื่นๆ เช่น โรคมะเร็งเต้านมที่ยังได้รับการบำบัดรักษาอยู่ ไม่แนะนำให้ใช้ห่วงอนามัยชนิดเคลือบสาร Levonorgestrel


คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิด

  • ใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิดเจ็บไหม

อาจมีอาการเจ็บได้เล็กน้อย ตอนที่ถอดและใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิด

  • ใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิดมีโอกาสหลุดไหม

มีโอกาสเลื่อนหลุดออกได้มากที่สุดในปีแรก (3-10%) โดยปัจจัยที่อาจทำให้เลื่อนหลุดได้คือ ประจำเดือนมามาก ปวดท้องประจำเดือนรุนแรง รวมไปถึงการใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิดทันทีหลังคลอด หรือหลังแท้ง

  • หลังใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิดแล้ว มีเพศสัมพันธ์ได้เลยไหม

ควรงดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ 24 ชั่วโมงหลังจากการใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิด เนื่องจากอาจจะเพิ่มโอกาสการติดเชื้อในช่วงแรกหลังจากใส่ห่วงคุมกำเนิดได้

 


ราคาใส่ห่วงคุมกำเนิด (ห่วงอนามัย)

ราคาใส่ห่วงยาคุม (ใส่ห่วงอนามัย)

  • ราคาใส่ห่วงอนามัย แบบไม่มีฮอร์โมน เริ่มต้น 4,285 บาท

  • ราคาใส่ห่วงอนามัย แบบมีฮอร์โมน เริ่มต้น 10,960 บาท

หมายเหตุ : ราคาอาจปรับเปลี่ยนตามคำวินิจฉัยของแพทย์

เอกสารอ้างอิง

  • การวางแผนครอบครัวและการคุมกำเนิด (Family planning and contraception), อุษณีย์ แสนหมี่, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

  • Intrauterine devices: ห่วงอนามัย, น.พ. ธรรมพจน์ จีรากรภาสวัฒน์ และอ. พ.ญ. ทวิวัน พันธศรี, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

  • ห่วงอนามัย…สำหรับการคุมกำเนิดระยะยาว, รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์, หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

  Hot Line 081-562-7722 กดโทรออก

  @qns9056c

  อินทัชเมดิแคร์คลินิกเวชกรรม

เรียบเรียงโดย นายแพทย์จิตรทิวัส อำนวยผล
  แก้ไขล่าสุด : 31/01/2024

website hit counter

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้